ลาวสแควร์

[EP-15] ยื่นเอกสารให้ ปกส. แขวง พร้อมนัดสัมภาษณ์คู่สมรสไทยลาว

ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว หลังจากเรานำเอกสารจดทะเบียนสมรส ของทั้งสองฝ่ายไปยื่นตรวจสอบที่ ปกส. เมืองแล้ว ได้ตรวจสอบเอกสารผ่าน และได้โฉนดนำส่งจาก ปกส. เมืองมาแล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้ไปก็คือการนำเอกสารที่ได้มา ไปยื่นขอนัดสัมภาษณ์ที่ ปกส. แขวง (กองบัญชาการ ปกส. แขวง) ที่ฝ่ายคนลาวอยู่

สำหรับในขั้นตอนนี้ ที่ ปกส. แขวง จะมีการตรวจเอกสารคร่าวๆ พอเป็นพิธี คือมันครบอยู่แล้วแหละ เพราะผ่าน ปกส. เมืองมาแล้ว สิ่งสำคัญในขั้นตอนนี้ก็คือ “การสัมภาษณ์คู่สมรสทั้งสองฝ่าย” ซึ่งขั้นตอนนี้ ถือว่ามีความสำคัญมากๆ ถ้าไม่ผ่านการสัมภาษณ์ ก็ไปขั้นตอนต่อไม่ได้

แผนก 207 ปกส. แขวง
หน้าห้อง แผนก 207 ปกส. แขวงแห่งหนึ่ง เราจะสัมภาษณ์กันในนี้

ผู้เขียน เดินทางไปถึงกองบัญชาการแขวง ตั้งแต่เช้า เพราะต้องการทำเรื่องให้เสร็จก่อนเที่ยง หน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจเอกสาร และสัมภาษณ์ผู้ยื่นขอจดทะเบียนสมรส คือ “แผนกคุ้มครองคนต่างประเทศ” (แผนก 207) ถ้าไม่เจอแผนกนี้ ลองสอบถามเจ้าหน้าที่แถวนั้นดู แจ้งว่ามายื่นเอกสารขอจดทะเบียนสมรสกับคนต่างชาติ ก็จะเจอได้ไม่ยาก

บทความแนะนำ

หลังจากยื่นเอกสารให้เจ้าหน้าที่ที่แผนกคุ้มครองคนต่างประเทศแล้ว ถ้ามีคิวสัมภาษณ์ว่างอยู่ เจ้าหน้าที่ก็จะเชิญให้เราเข้าไปสัมภาษณ์ภายในห้อง โดยจะแยกสัมภาษณ์ฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง เนื้อหาที่สัมภาษณ์ส่วนใหญ่จะอยู่ใน “แบบฟอร์มเอกสารชีวประวัติย่อ” ที่เกี่ยวกับประวัติส่วนตัวของเรา “ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ” เรียนที่ไหน ปีไหน? มีพี่น้องกี่คน แต่ละคนชื่ออะไรบ้าง? ข้อมูลส่วนนี้แทบทั้งหมดตอบได้ไม่ยาก เพราะเป็นข้อมูลส่วนตัวของเราเอง

เมื่อถามประวัติส่วนตัวเสร็จแล้ว ก็จะถึงจุดสำคัญ คือที่มาที่ไปของความสัมพันธ์ระหว่างเรา กับคู่สมรสชาวลาว ว่าเจอกันที่ไหน ปีไหน เจอกันอย่างไร เคยมีกิจกรรมอะไรกันบ้าง การไปมาหาสู่กันระหว่างครอบครัวของฝ่ายคนไทย และฝ่ายคนลาว ตรงนี้ต้องตอบให้ดี ให้สอดคล้องกัน เมื่อสัมภาษณ์เสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะให้เราปั้มลายมือในเอกสาร แล้วเซ็นชื่อ จากนั้นรอพิจารณา ถ้าผ่านการสัมภาษณ์ เจ้าหน้าที่ก็จะให้เราจ่ายค่าธรรมเนียม เป็นจำนวนเงิน 350,000 กีบ 1อ้างอิงข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2025 

สำหรับระยะเวลาในการออกเอกสารบทสัมภาษณ์ขอแต่งงาน (ບົດສຳພາດຂໍແຕ່ງດອງ) และโฉนดนำส่ง จดทะเบียนแต่งงานนอกดินแดน สปป. ลาว (ສະໂນດນຳສົ່ງ ຈົດທະບຽນແຕ່ງດອງນອກດິນແດນ ສປປ. ລາວ) ใช้เวลาประมาณ 10 วัน

หลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนนี้ เราจะได้เอกสารมาเพิ่มอีก 3 อย่างคือ  

ลำดับ ภาษาลาว ภาษาไทย
1 ສະໂນດນຳສົ່ງ (ຈົດທະບຽນແຕ່ງດອງນອກດິນແດນ ສປປ. ລາວ) โฉนดนำส่ง (จดทะเบียนแต่งงานนอกดินแดน สปป. ลาว)
2 ບົດສຳພາດ ຂໍແຕ່ງດອງ (ຝ່າຍຄົນຕ່າງປະເທດ) บทสัมภาษณ์ ขอแต่งงาน (ฝ่ายคนต่างประเทศ)
3 ບົດສຳພາດ ຂໍແຕ່ງດອງ (ຝ່າຍຄົນລາວ) บทสัมภาษณ์ ขอแต่งงาน (ฝ่ายคนลาว)

หมายเหตุ: อย่าลืมอ่านข้อแนะนำ อุปสรรค ปัญหา ตอนในท้ายบทความนี้

ตัวอย่างบทสัมภาษณ์ขอแต่งงาน

หน้า 1
หน้า 2
หน้า 3

หมายเหตุ: รายละเอียดของบทสัมภาษณ์ขอแต่งงาน (ບົດສຳພາດຂໍແຕ່ງດອງ) คร่าวๆ คือจะระบุวันเวลาที่เริ่มสัมภาษณ์, ชื่อผู้ทำการสัมภาษณ์ จะมีการสอบถามข้อมูลส่วนตัว เช่นวันเดือนปีเกิด ชื่อพ่อแม่ และพี่น้อง, ประวัติการเคลื่อนไหวของเรา และคู่สมรสชาวลาว เริ่มตั้งแต่อายุ 8 ปี เรียนที่ไหน ตอนปีไหน, ทำงานที่ไหน ตอนปีไหน รู้จักกับฝ่ายคนลาวได้อย่างไร เจอกันอย่างไร คบหากันยังไง รักกันตอนไหน เมื่อสัมภาษณ์เสร็จ ก็จะให้เราปั้มนิ้วโป้งลงในเอกสาร พร้อมเซ็นชื่อกำกับ โดยฝ่ายคนไทย และฝ่ายคนลาว จะมีคนละฉบับ แยกกันสัมภาษณ์ โดยฝ่ายคนต่างชาติจะมีการซักถามนานหน่อย

ตัวอย่างบทสัมภาษณ์ขอแต่งงาน

หน้า 1

หมายเหตุ: รายละเอียดของโฉนดนำส่ง เพื่อจดทะเบียนแต่งงานนอกดินแดน สปป. ลาว จะมีเนื้อหาที่แจ้งถึงหัวหน้ากรมตำรวจ คุ้มครองคนต่างประเทศ ที่นครหลวงเวียงจันทน์ เรื่องนำส่งเอกสารแต่งงานระหว่างพลเมืองลาวกับคนต่างประเทศ โดยระบุชื่อ และรายละเอียดฝ่ายคนลาว และคนไทย พร้อมรายการเอกสารทั้งหมดของทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เราไปยื่นต่อที่กรมตำรวจคุ้มครองคนต่างประเทศ ที่นครหลวงเวียงจันทน์

ข้อแนะนำ อุปสรรค ปัญหา ในขั้นตอนนี้

คะแนนความโปร่งใส
0%

สำหรับขั้นตอนนี้ หลักๆ ก็คือการเข้ารับการสัมภาษณ์ จากเจ้าหน้าที่ ปกส. สัมภาษณ์ผ่านก็ไปต่อ ไม่ผ่านก็ต้องหาทางกันไป สำหรับผู้เขียนแล้ว ตั้งแต่เริ่มเดินเรื่องมา ขั้นตอนนี้ผู้เขียนเครียดที่สุด ที่เครียดเพราะรู้สึกว่าจะถูกจับผิดอย่างไร? ตรงไหน?์ และพอสัมภาษณ์จริงก็รู้สึกแบบนั้นจริงๆ รู้สึกเหมือนคนทำความผิดเลย โดยเฉพาะช่วงคำถามที่ถามถึงความสัมพันธ์ การคบหากัน ระหว่างคู่สมรสชาวลาว

เพราะตรงนี้ กฎหมายลาวกำหนดไว้ว่าห้ามอยู่ด้วยกันก่อน ห้ามได้เสียกันก่อน ห้ามมีความสัมพันธ์กันก่อน ยิ่งถ้ามีลูกด้วยกันก่อนแล้ว จะถูกปรับไหมเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งเป็นกฎหมายที่ผู้เขียนคิดว่าไม่ทันกับยุคสมัย และละเมิดสิทธิของประชาชนเกินไปในด้านความมีอิสระในการมีครอบครัว และเจ้าหน้าที่ผู้ให้สัมภาษณ์ ก็มีความชำนาญในการหาข้อผิดพลาดในแง่กฎหมายที่เขารู้ แต่เราไม่รู้

และเมื่อกฎหมายเป็นแบบนี้ จึงทำให้หลายคู่ จำเป็นต้องเตี๊ยมกันก่อน เตรียมพร้อมสำหรับการสัมภาษณ์ ซึ่งจะมีการเน้นเรื่องนี้ เพื่อหาจุดที่เขาจะปรับเราให้ได้ เพราะคนต่างชาติที่จะจดทะเบียนสมรสส่วนใหญ่ ไม่คิดว่าประเทศลาวจะมีกฎหมายแบบนี้ คำถามที่จะเน้นคือ เคยได้เสียกันหรือยัง?, เคยไปออกเดทกันหรือเปล่า?, ไปกันสองต่อสองกันบ้างไหม? ฝ่ายหญิงเคยไปนอนค้างบ้านฝ่ายชาย หรือฝ่ายชายเคยไปค้างบ้านฝ่ายหญิงบ้างหรือเปล่า? เคยทำพิธีสู่ขอกัน มีผูกข้อไม้ข้อมือกันบ้างไหม? คำถามก็จะมีประมาณนี้

ส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่า คู่สมรสที่เข้าไปสัมภาษณ์ส่วนใหญ่ เตรียมคำถามไว้ก่อนกันทั้งนั้น ยกเว้นคู่ที่ไม่ได้หาข้อมูลไปก่อน และเดินดุ่ยๆ เข้าไปสัมภาษณ์เลย ถ้าตอบคำถามแบบตรงๆ เชื่อว่าไม่น่ารอด โดนปรับทุกราย ดังนั้น แนะนำให้เตรียมคำถามกันไปให้ดี และหากใครต้องการคำแนะนำ ทักมาคุยกันก่อนได้ครับ ยินดีให้คำแนะนำเสมอ

หมายเหตุ: เรื่องที่เล่าข้างต้นนี้ เป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่ผู้เขียนได้ไปเจอมาด้วยตัวเอง ซึ่งอาจไม่ตรงกับประสบการณ์ของท่านอื่น เจ้าหน้าที่แต่ละเมือง แต่ละแขวง แต่ละที่ ก็มีการปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน เจ้าหน้าที่ที่บริการ และดูแลประชาชนดีก็มีเยอะ ดังนั้น โปรดใช้วิจารณญาณในการศึกษาข้อมูลให้รอบด้านด้วย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม?

หากท่านยังมีคำถาม ที่ยังสงสัย หรือมีสิ่งใดที่ต้องการติชม หรือเสนอแนะกับทางทีมงานเรา สามารถติดต่อเราได้ผ่านช่องทาง Line Official และทาง WhatsApp ที่ปุ่มด้านล่างนี้

Exit mobile version