หลังจากได้รับใบคำเห็น และเอกสารหลักทั้ง 7 อย่างที่ได้รับการประทับตรารับรองจากกงสุลไทย ในนครหลวงเวียงจันทน์เรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาที่เราจะต้องรวบรวมเอกสารทั้งหมด เพื่อนำไปแปลเป็นภาษาลาว และนำไปรับรองที่กระทรวงยุติธรรมใน สปป. ลาว หลังจากนั้น เอกสารฝ่ายคนไทย จึงพร้อมประกบกับเอกสารฝ่ายคนลาว เพื่อเดินหน้าไปสู่ขั้นตอนต่อไปได้ ซึ่งรายการเอกสาร ที่จะต้องนำไปแปลเป็นภาษาลาว มี 12 รายการดังต่อไปนี้
เอกสารที่รับรองโดยกงสุลไทย
No | รายการ | รับรองโดย |
---|---|---|
1 | แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร (ทะเบียนบ้าน) | ที่ว่าการอำเภอ |
2 | แบบรับรองข้อมูลเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชน (บัตรประชาชน) | ที่ว่าการอำเภอ |
3 | หนังสือรับรองสถานภาพการสมรส | ที่ว่าการอำเภอ |
4 | ใบรับรองแพทย์ | โรงพยาบาลรัฐ |
5 | หนังสือรับรองความประพฤติ | กองทะเบียนประวัติอาชญากรรม |
6 | ใบรับประกันส่งคนลาวกลับคืนประเทศ (ถ้าเกิดมีการหย่าร้าง) | ผู้ขอจดทะเบียนสมรสฝ่ายคนไทย |
7 | สำเนาหนังสือเดินทาง | - |
8 | ใบคำเห็นของสถานทูต หรือสถานกงสุลไทย | กงสุลไทย นครหลวงเวียงจันทน์ |
เอกสารที่ต้องทำเพิ่ม
No | รายการ | รับรองโดย |
---|---|---|
1 | ชีวประวัติย่อ | ผู้ขอจดทะเบียนสมรสฝ่ายคนไทย และผู้ปกครองของผู้ขอจดทะเบียนสมรสฝ่ายคนไทย |
2 | ใบคำร้องขอแต่งงาน | ผู้ขอจดทะเบียนสมรสฝ่ายคนไทย |
3 | ใบยืนยันฐานะเศรษฐกิจ | ผู้ขอจดทะเบียนสมรสฝ่ายคนไทย |
4 | หนังสืออนุญาตจากผู้ปกครอง | ผู้ปกครอง ของขอจดทะเบียนสมรสฝ่ายคนไทย |
ชุดเอกสารที่ผ่านการรับรองโดยกงสุลไทย จำนวน 8 ฉบับ รวมกับเอกสารที่ทำเพิ่มอีก 4 ฉบับรวมทั้งหมด 12 ฉบับ ต้องถูกนำไปแปลเป็นภาษาลาวก่อนทั้งหมด สำหรับการแปล จะต้องแปลผ่านบริษัท รับแปลภาษาที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น เอกสารที่แปลเป็นภาษาลาว เมื่อแปลเสร็จแล้วจะมีตรายางของบริษัทที่รับแปลภาษาประทับที่เอกสารทุกใบ เมื่อเอกสารทุกแผ่นแปลเสร็จแล้ว ให้เรานำเอกสารที่แปล พร้อมต้นฉบับ เดินทางไปที่ห้องทะเบียนศาล แขนงทะเบียนศาล แผนกยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม นครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อประทับตรารับรอง เพียงเท่านี้ เอกสารของฝ่ายคนไทย ก็พร้อม ที่จะนำไปยื่นตรวจสอบในขั้นตอนของ ปกส. เมือง แล้ว

ข้อแนะนำ อุปสรรค ปัญหา ในขั้นตอนนี้
ผู้เขียนขอแยกขั้นตอนออกเป็น 2 ส่วนคือ ขั้นตอนการแปลเอกสารจากภาษาไทยเป็นภาษาลาว และขั้นตอนการนำไปยื่นขอรับรองการแปลที่กระทรวงยุติธรรม
ขอเล่าประสบการณ์ให้ฟังนิดนึง ทีแรกเลย ผู้เขียนนำเอกสารทั้งหมดไปให้ศาลประชาชนสูงสุดแปล เพราะจะได้ไม่ต้องผ่านบริษัทรับแปล คือให้ศาลแปล แล้วรับรองให้เลย เพราะฟังจากประสบการณ์ของเพื่อนๆ หลายคนก็ใช้วิธีนี้ แต่ปรากฎว่าผู้เขียนไปผิดศาลคือไปศาลประชาชนสูงสุด เขาต้องให้ไปกระทรวงยุติธรรม แขนงทะเบียนศาล สรุปว่าที่นี่ (แม้จะผิดศาล) เขาก็รับแปลนะ แต่คิดแผ่นละ 500,000 กีบ (คือเจ้าหน้าที่ศาลรับงานเอง เงินเข้ากระเป๋าตัวเองแหละ แต่คิดราคาโครตแพง) ราคาคิดเป็นเงินไทยก็เกือบแผ่นละ 600 บาท (mfn) อัตรา ณ เม.ย. 2025 อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท เท่ากับ 630 กีบ(/mfn) รวม 12 แผ่นราคาก็เกือบหมื่น มันใช่หรอ? ผู้เขียนเลยถอย แล้วกลับมาปรึกษาเพื่อนก่อน เพราะสู้ราคาไม่ไหวจริงๆ
ต่อมา เพื่อนก็แนะนำบริษัทรับจ้างแปลให้ แปลเสร็จ เราจึงนำไปยื่นที่กระทรวงยุติธรรมตามขั้นตอน ทีนี้ไปถูกที่ละ.. ปรากฎว่าเราเข้าไปไม่ถึงจุดที่ยื่น เพราะเจอเจ้าหน้าที่ (เราขอไม่บอกว่าเขาเป็นใคร ตำแหน่งไหน) เข้ามาติดต่อ และเสนอช่องทางพิเศษให้ ราคาที่เขาเสนอเรามาก็พอรับได้ คือน้อยกว่าที่เจอที่แรกเกินครึ่ง เราเลยรับข้อเสนอ เบ็ดเสร็จต รวมค่าแปล และค่ารับรองศาล ก็ยังถูกกว่าที่แรกที่ไปเจอ และได้ชัวร์ ได้เร็วด้วย
สำหรับเพื่อนๆ ท่านใดที่มาถึงขั้นตอนนี้แล้วติดปัญหาเรื่องการแปล และรับรองเอกสารที่ศาล ไม่ต้องกังวล หรือหนักใจอะไรนะครับ ติดต่อผู้เขียนมาครับ ทาง Line ทาง WhatsApp ด้านล่างบทความนี้เลย แล้วผู้เขียนจะแนะนำแนวทางให้ครับ
ค่าใช้จ่ายตรงนี้ ดูจะหนักเหมือนกันนะสำหรับผู้เขียน แต่ก็คิดว่า น่าจะเป็นค่าใช้จ่ายเพียงไม่กี่ก้อนแล้วที่จะต้องจ่าย และหลังจากนี้ เอกสารของเราก็พร้อมเดินทางไปยัง ปกส. เมือง ตามด้วย ปกส. แขวง เพื่อนัดสัมภาษณ์ แล้วก็รับรองเอกสารที่กงสุลลาว เวียงจันทน์ ก็เป็นอันสิ้นสุดขั้นตอนแล้ว อดทน.. เพื่อคนที่เรารัก ยังไงก็สู้ต่อ ขอเป็นกำลังใจให้เพื่อนๆ ทุกคนครับ