แม่น้ำโขงแบ่งแผ่นดินออกเป็นสองฝั่งฟาก แม่น้ำโบราณสายนี้ยิ่งใหญ่ และสง่างาม แผ่นดิน ถิ่นฐานบ้านเรือน และผู้คนดำรงอยู่มาเนิ่นนานดุจเดียวกับสายน้ำ
ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์บอกเราว่า ผู้คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำนี้ในดินแดนที่เป็นประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิบไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน คือคนที่มีรากเหง้าเชื้อสายเดียวกัน พูดจาภาษาเดียวกัน มีความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรมที่ไม่ต่างกัน บ้างก็ว่าคนไทย คนลาว ไม่ต่างจากคำเปรียบเปรยที่ว่า “เหมือนแม่น้ำร่วมสาย ไผ่ร่วมกอ” หากตัดคำว่า “ประเทศ” ในความหมายทางรัฐศาสตร์ออกไป ผู้คนสองฝั่งแม่น้ำนี้แทบจะไม่มีสิ่งใดที่แตกต่าง
นี่คือความจริงที่สามารถสืบสาวราวเรื่องได้ในมิติทางประวัติศาสตร์ ร่องรอยเหล่านี้ยิ่งชัดแจ้งในมูลเชื้อวรรณคดีเก่าแก่ อาทิ วรรณคดีเรื่อง สินไซ ท้าวกุ้ง ท้าวเจือง และตํานานหลายๆ เรื่อง แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ความเปลี่ยนแปลงมากมายได้เกิดขึ้น การเมือง และการปกครองของแต่ละรัฐชาติ คือตัวแปรสําคัญที่ทําให้ผู้คนสองฝั่งฟากเกิด ความแปลกแยกแตกต่าง
กระนั้นก็ตาม สิ่งที่ยังคงดํารงอยู่คือเรื่องราว ของผู้คนเล็กๆ สองฝั่งแม่น้ำใหญ่ พวกเขาอาจพบเจอประสบการณ์ที่แตกต่าง แต่ที่นี่ชีวิตยังคงดําเนินต่อไป และเรื่องเล่ามากมายก็เกิดขึ้นเรื่องแล้วเรื่องเล่า
“สองฟากฝั่งของแม่น้ํา” เป็นเสมือนความพยายามหนึ่งของคนทํางานวรรณกรรมสองฝั่งแม่น้ําโขง ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้งานเขียนประเภทเรื่องสั้น เป็นสื่อแสดงออกถึงความสัมพันธ์ของผู้คนในสองประเทศ นี่คือเจตนารมณ์ที่ดีงาม และควรแก่การยกย่อง ความใฝ่ฝันนี้มีมานานแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ที่ริเริ่มขึ้นมาโดยความร่วมมือของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และ สมาคมนักประพันธ์ลาว และได้เป็นจริงจังขึ้นในปี พ.ศ. 2551 โดยมี สโมสรนักเขียนภาคอีสานแห่งประเทศไทยเป็น ผู้ประสานงาน
ในฐานะของบรรณาธิการผู้จัดกระทํากับต้นฉบับเรื่องสั้นทั้งหมดของนักเขียนร่วมสมัยไทยลาว ข้าพเจ้าอยากกล่าวถึงเรื่องสั้นทั้ง 15 เรื่องที่รวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้ในบางแง่มุม ในเวลาอันจํากัดอย่างยิ่งของการทํางาน กล่าวในบทบาทของบรรณาธิการ ข้าพเจ้าแทบจะไม่ได้ทําหน้าที่ใดๆ ในการคัดเลือก และรวบรวมเรื่องสั้นทั้งหมด เนื่องจากเรื่องสั้นเหล่านี้ได้รับการคัดเลือก และกลั่นกรองมาก่อนแล้วโดยสมาคมนักเขียนของทั้งสองฝ่าย ข้าพเจ้าเพียงนํามาพิจารณา จัดลําดับวางเรื่องให้เหมาะสม ตามสายตาของตนเอง และตั้งชื่อหนังสือให้ดูน่าสนใจ
ขณะเดียวกันก็ให้พอมีความหมายสอดคล้องกับเรื่องราวที่ปรากฏในเรื่องสั้นแต่ละเรื่อง ซึ่งในจํานวนเรื่องสั้น 15 เรื่องนี้ เป็นเรื่องสั้นของนักเขียนลาวทั้งหมด 10 เรื่อง และนักเขียนไทยที่เป็นคนอีสานอีก 5 เรื่อง เรื่องสั้นลาวทั้งหมดได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทยโดย “จินตรัย” หรือ ปราโมช ปราโมทย์ นักเขียนในสังกัดสโมสรนักเขียนภาคอีสาน ผู้ซึ่งริเริ่มแปลเรื่องสั้นลาวเป็นภาษาไทยเมื่อยี่สิบปีที่ผ่านมา
ส่วนเรื่องสั้นไทยทั้ง 5 เรื่องก็ได้รับการแปลเป็นภาษาลาวโดย นักแปลในสมาคมนักประพันธ์ลาว นํามาพิมพ์รวมกันเป็นสองภาษา คือ ไทยและลาว ดังที่ปรากฏแก่สายตาของผู้อ่านในขณะนี้
ในประวัติศาสตร์ของวรรณกรรมสมัยใหม่ “เรื่องสั้น” (short story) นั้นถือได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของงานเขียนที่มีแบบแผนมาจากตะวันตก กําเนิดเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ในระยะไล่เลี่ยกัน แต่ก็ใช่ว่าผู้คนในดินแดนแถบนี้ มิได้มีรูปแบบของเรื่องเล่าที่เป็นของตัวเอง ในความเป็นจริงแล้ว ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่ำรวยไปด้วยเรื่องเล่าในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตํานาน นิทาน หรือนิยายพื้นบ้าน และนิทานในพุทธศาสนาที่เรียกกันว่า “ชาดก”
เรื่องเล่าเหล่านี้มีแบบแผนที่เป็นสากล มีลักษณะร่วมในด้านโครงสร้างในฐานะที่เป็นเรื่องเล่า (narrative) ที่ชัดเจน เพียงแต่นําเสนอเรื่องราวในบริบทของวัฒนธรรมเก่า แต่เมื่ออิทธิพลของเรื่องสั้นแบบตะวันตกแพร่เข้ามา นักเล่าเรื่องในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็สามารถประยุกต์การเล่าเรื่องของตนเอง ให้ผสานกับการเล่าเรื่องแบบเรื่องสั้นของตะวันตกได้อย่างกลมกลืน และแนบเนียน
มองในเชิงเปรียบเทียบ การรับเรื่องสั้นแบบตะวันตกเข้าสู่วงวรรณกรรมไทยนั้น เกิดขึ้นก่อนในวงวรรณกรรมลาวเล็กน้อย แต่บริบททางประวัติศาสตร์ และการเมืองการปกครองทําให้เรื่องสั้นของไทยดูจะมีพัฒนาการไปไกลกว่าเรื่องสั้นลาวพอสมควร นักเขียนเรื่องสั้นไทยร่วมสมัยให้ความสนใจ ในเรื่องรูปแบบ กลวิธีในการเล่าเรื่องค่อนข้างมาก และนักเขียนเรื่องสั้นหลายคนก็ทําได้น่าสนใจ กล่าวได้ว่าอิทธิพลของนักเขียนตะวันตก ค่อนข้างมีอิทธิพลต่อนักเขียนเรื่องสั้นไทยอย่างเห็นได้ชัด รูปแบบ กลวิธีในการเล่าเรื่องกลายเป็นองค์ประกอบสําคัญในการพิจารณาประเมินค่าของเรื่องสั้นไม่น้อยไปกว่าคุณค่าทางด้านเนื้อหา ซึ่งเห็นได้จากมาตรฐานการประเมินค่าของคณะกรรมการตัดสินวรรณกรรมซีไรต์ของไทยในแต่ละปี
ส่วนในวงวรรณกรรมลาวร่วมสมัยนั้น รูปแบบ และกลวิธีการเล่าเรื่องยังไม่ซับซ้อน และยอกย้อนเท่าเรื่องสั้นไทยร่วมสมัย แต่นี่หาใช่เครื่องชี้วัดว่า เรื่องสั้นของใครเด่น หรือด้อยกว่าใคร ทั้งหมดขึ้นอยู่กับพัฒนาการของการเขียน การอ่าน ที่แอบอิงกับบริบททางสังคมเสียมากกว่า เรื่องสั้นลาว ก็มีบทบาทหน้าที่ทางสังคม และคุณลักษณะที่เหมาะสมกับรสนิยมในการเขียนการอ่านของคนลาว
เช่นเดียวกับที่เรื่องสั้นไทยที่มีบทบาทหน้าที่ ที่สอดคล้องกับสังคมไทย รูปแบบ กลวิธีอาจแตกต่างไปบ้าง แต่ภารกิจ และพันธกิจของงานเขียนเรื่องสั้นนั้น ไม่อาจหนีไปจากสังคม และประวัติศาสตร์ได้ คุณลักษณะข้อนี้ นับได้ว่าเป็นคุณค่าที่สําคัญของเรื่องสั้น
เรื่องสั้นลาวทั้ง 10 เรื่อง มีความน่าสนใจในแง่ที่ว่า เป็นผลงานของนักเขียนลาวร่วมสมัยที่ค่อนข้างหลากหลาย นักเขียนส่วนใหญ่ยังคงทํางานเขียนอย่างต่อเนื่อง หลายคนเป็นเจ้าของรางวัลซีไรต์ หลายคนเป็นนักเขียนดาวรุ่งที่อยู่ในความนิยม ส่วนเรื่องสั้นของนักเขียนไทย 5 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นนักเขียนชาวอีสาน ซึ่งมีภูมิหลังทางชาติพันธุ์ใกล้ชิดกับนักเขียนลาวเป็น อย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่พวกเขาพูดจาภาษาที่ใกล้ชิดกัน แต่รากเหง้าทางความเชื่อของพวกเขาก็มีมูลเชื้อมาจากที่เดียวกัน
โดยความระมัดระวังอย่างยิ่ง ที่จะไม่ให้ข้อเขียนนี้กลายเป็นการชี้นําผู้อ่าน ซึ่งมีผลทําให้การรับรู้ และสร้างความหมายไขว้เขวไปจากมาตรฐานของตนเอง แต่ในฐานะที่เป็นคนอ่านเรื่องสั้นทั้งหมดเป็นคนแรกๆ สิ่งที่ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไปอีกเล็กน้อยก็คือ คุณลักษณะร่วมบางประการที่น่าสนใจในรวมเรื่องสั้นไทย-ลาว ทั้ง 15 เรื่อง ซึ่งมองผ่านสายตา และรสนิยมในการอ่านของข้าพเจ้าล้วนๆ
หากจะถามว่ามีอะไรน่าสนใจในเรื่องสั้นทั้งหมดที่นํามารวมพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าคิดว่า ขึ้นอยู่กับมุมมอง และวิจารณญาณของผู้อ่านแต่ละคน แต่สิ่งที่ข้าพเจ้ามองเห็นก็คือ แก่นแกนที่ร่วมกันบางประการ และข้อแตกต่างปลีกย่อยอีกเล็กน้อยของเรื่องสั้นจากสองฝั่งแม่น้ําโขง ในสมมุติฐานเบื้องต้นว่า เรื่องสั้นทั้งหมด พอจะอนุโลมได้ว่าเป็น “ภาพตัวแทน (representation) ของเรื่องสั้นไทย-ลาวในบางแง่มุม
สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ ทั้งเรื่องสั้นของไทย และลาวในหนังสือเล่มนี้ได้ทําหน้าที่อันเปรียบเสมือน “เสียงร้อง” และ “ภาพฟ้อง” ทางสังคม ที่เด่นชัด โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และผลกระทบของมัน ทั้งในระดับสังคมในภาพรวม และในระดับของ “ปัจเจก บุคคล” ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนั้น แม้ว่าสังคมไทย และลาวอาจมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ร่วมกันอย่างเห็นได้ชัดก็คือสาระดังกล่าวนั่นเอง
เรื่องสั้นลาวส่วนใหญ่ เป็นภาพตัวแทนที่ชัดเจนในการนําเสนอให้ เห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของลาวสมัยใหม่ที่เป็นไปอย่างรีบเร่ง ในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่าสังคมลาวได้เผชิญหน้ากับสิ่งที่เรียกกว่า “การพัฒนา” ทางด้านวัตถุอย่างขนานใหญ่ โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านสาธารณูปการที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในสังคม ชนบท เช่น การตัดถนน การขยายไฟฟ้า ซึ่งเป็นเสมือนตัวนําร่อง ให้ความเจริญทางด้านวัตถุ และการบริโภคแทรกซึมสู่ชีวิตอันเรียบง่ายของผู้คนแต่ดั้งเดิม และทําให้รูปแบบการใช้ชีวิต และค่านิยมของพวกเขาเปลี่ยนไป
เรื่องสั้นของนักเขียนลาวหลายเรื่องได้สร้างตัวละครประเภท “ถนน และเสาไฟฟ้าอันชั่วร้าย” ขึ้นมาแทนที่ตัวละครผู้ร้ายในนิทานพื้นบ้าน ในมุมมองของนักเขียนซึ่งเป็นผู้สังเกตการณ์ทางสังคม พวกเขาพากันตื่นตระหนก และเป็นกังวลกับ “ภาวะคุกคาม” นี้ อย่างเห็นได้ชัด
เรื่องสั้นชื่อ “บ้านโคกคะเนิน” ของ สุขี นรศิลป์ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องสั้นที่กล่าวถึงปัญหาดังกล่าวได้อย่างเบ็ดเสร็จ และเป็นรูปธรรมที่สุด การเติบโตของการพัฒนาทางด้านวัตถุที่รุกคืบเข้าไปในชนบท ไม่เพียงแต่เป็นตัวทําลายทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าเท่านั้น แต่มันได้รื้อถอนรูปแบบการใช้ชีวิต และวิถีคิดของผู้คนไปอย่างสิ้นเชิง
“วาทกรรมการพัฒนา” กลายเป็นประเด็นในการถกเถียง และได้รับการผลิตในเรื่องสั้นลาวที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชนบทอีกหลายเรื่อง เรื่องสั้นขนาดสั้นที่ชื่อว่า “เรื่องแบ้ๆ” ของปากกาแดง ให้อารมณ์ที่ขันขื่นของผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่มีต่อคนเล็กๆ อย่างคนเลี้ยงแพะ หรือ “แบ้” และแพะของเขา เมื่อวันหนึ่ง สถานที่ที่เขาเคยเอาแพะไปเลี้ยงได้อย่างสบาย กลายเป็นที่ไม่ปลอดภัยเสียแล้ว วิถีชีวิตของคนเลี้ยงแบ้ กับวิถีของความเจริญแบบสังคมเมืองจึงกลายเป็นเรื่องที่เข้ากันไม่ได้อย่างสิ้นเชิง
เรื่องสั้นเรื่องนี้ดูเรียบง่ายไม่ซับซ้อน แต่ก็สื่อความหมายที่เข้มข้น และส่ง ผลสะเทือนในความรู้สึกอย่างมีพลัง คล้ายๆ กับเรื่องสั้น “ของดี” ของปิติ ทิวาชน ที่นําเสนอภาพของความเปลี่ยนแปลงของสังคมแบบใหม่ที่ทําให้ความเจริญกลายเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ปิติบอกเราว่า เมื่อสังคมเปลี่ยนไป “ของดี” ในความหมาย และวิธีคิดของคนในวิถีชีวิตแบบเก่า กลายเป็นสิ่งที่ไม่จําเป็นเสียแล้ว
ต่างจากเรื่อง “ที่พักใจ” ของ ทองใบ โพธิสาน แม้จะนําเสนอแง่มุม เกี่ยวกับความรัก แต่ก็ได้ให้ภาพของการพัฒนาที่นํามาซึ่งความเจริญ ก้าวหน้าทางด้านวัตถุ เป็นที่น่าสังเกตว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้มีน้ำเสียงที่ออกจะชื่นชมมากกว่าการต่อต้าน
อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าเรื่องของ “คุณค่า” เป็นประเด็นที่นักเขียนลาวนํามากล่าวถึงค่อนข้างมาก เรื่องสั้นหลายเรื่องได้นําเสนอผลกระทบของการพัฒนาที่หยั่งลึกลงไปในระดับของ “คุณค่า” ความขัดแย้งเกี่ยวกับเรื่องของ “คุณค่า” ในวิธีคิดของคนรุ่นเก่ากับวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ ที่มาพร้อมกับความเจริญทางด้านวัตถุ
ประเด็นถกเถียงว่าด้วย “คุณค่า และ ราคา” จึงเปรียบเสมือนคําถามที่ยังค้างคาอยู่ในจิตใจของคนรุ่นเก่า ขณะที่พวกเขาเฝ้ามอง “คนรุ่นใหม่” ที่เกิด และเติบโตหลังการปฏิวัติลาวซึ่งยอมรับคุณค่าใหม่ และค่านิยมของการบริโภคอย่างสนิทสนมได้มากว่า
ในเรื่องสั้น “ซิ่นไหมผืนเก่าๆ” ของฮุ่งอะรุน แดนวิไล ให้อารมณ์ขันขื่นอันเนื่องมาจากการเล่นตลบหลังของสังคมบริโภค ที่แปร “ของเก่า” ให้กลายเป็น “มูลค่า” โดยอาศัยอารมณ์หวนหาหาอดีตของผู้คนในสังคมใหม่ มาเป็นกลยุทธ์ทางการค้า และการเก็งกําไร แต่ได้ละทิ้ง “คุณค่า” เดิมๆ ของมันอย่างไม่อาลัยไยดี
ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ “ผ้าซิ่นไหมเก่าๆ” จึงเป็นภาพแทนของการหากินกับ “ของเก่า” และ “คุณค่าแบบเก่า” ที่เห็นอยู่ดาษดื่นในสังคมบริโภค กลวิธีการเขียนแบบหักมุมจบในเรื่องสั้นเรื่องนี้ทําได้ดี และช่วยตอกย้ำแก่นเรื่องให้สําแดงพลังได้มากขึ้น
“สังคมเปลี่ยน คนเปลี่ยน” เป็นข้อสรุปที่ใช้ได้ดีกับสาระสําคัญที่นักเขียนร่วมสมัยของลาวพยายามนําเสนอ ในเรื่องสั้น “ค่ากับราคา” ของ ดวงจําปา ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงอานุภาพของ “ราคาหรือมูลค่า” ที่มีอิทธิพลเหนือวิธีคิดและค่านิยมของคนรุ่นใหม่ หลายครั้งมันได้เป็นช่องทางทําให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่น ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ ดวงจําปาแสดงให้เห็นความขัดแย้งในจิตใจของพนักงานรัฐชั้นผู้น้อย ที่ต้องเผชิญหน้ากับความเย้ายวน ของเงิน และผลประโยชน์กับการยับยั้งชั่งใจที่เกิดจากสํานึกใน “คุณค่า” ของอุดมการณ์แบบเก่า
ท้ายที่สุดผู้เขียนก็จบลงด้วยชัยชนะของ “คุณค่า” ความเป็นคน (ที่ถูกปลูกฝังโดยอุดมการณ์ของสังคมเก่า) เหนือ “ราคา” อันเป็นอุดมการณ์ของสังคมทุนนิยม ขณะที่เรื่องสั้น “จดหมายฉบับนี้…ขอฝากถึงพี่” ของ “ดอกเกด” นักเขียนซีไรต์ลาว ได้เปิดพื้นที่ของการวิพากษ์ค่านิยม “ดื่มกิน” ของคนรุ่นใหม่ที่มาพร้อมสังคมบริโภคได้อย่างแยบยล และน่ารัก
อ่านแล้วอดย้อนนึกถึงพฤติกรรม และค่านิยม “ดื่มกิน” ของวัยรุ่นในสังคมไทยไม่ได้ นี่คือปัญหาที่สังคมลาวสมัยใหม่กําลังเผชิญอยู่เช่นกัน
มีเรื่องสั้นอยู่สามเรื่องที่นําเสนอแนวคิดต่างไปจากเรื่องสั้นที่ได้กล่าวมาทั้งหมด เรื่องสั้นเรื่องแรกคือ “ประเพณี และชีวิต” ของบุนเสิน แสงมณี นําเสนอให้เห็นว่าบางครั้งค่านิยม และประเพณีแนวจารีตของสังคมเก่าก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตของปัจเจกอย่างไม่อาจเลี่ยงได้ ประเพณีบางอย่างอาจเคร่งครัด และไม่สอดคล้องแก่วิถีของผู้คนในยุคสมัยใหม่ ที่เติบโตมาด้วยวิธีคิด และอุดมการณ์อีกแบบ
เรื่องราวของหนุ่มสาวในกลุ่มชาติพันธุ์ม้งเรื่องนี้ จึงจบลงด้วยชัยชนะของวิธีคิดแบบใหม่ที่เป็นไปอย่างนิ่มนวล มากกว่าการหักล้างอย่างรุนแรง นั่นสะท้อนให้เห็นว่า แม้สังคมลาวจะเปลี่ยนไปมากมายก็ตาม แต่แนวคิดเกี่ยวกับ “ความขัดแย้งและความรุนแรง” ในสังคมลาวก็แตกต่างไปจากสังคมไทย เมื่อเกิดปัญหาทางสังคมหรือในครอบครัว พวกเขาพร้อมที่จะคลี่คลายด้วยความละมุนละม่อม และด้วยสติปัญญา มากกว่าการปะทะหักหาญ
สิ่งนี้เห็นได้ชัดจากเรื่องสั้นแนว ปัญหาครอบครัวอีกสองเรื่องคือเรื่อง “ฉากละครแท้” ของ ธิดาจันทร์ ที่ นําเสนอให้เห็นความขัดแย้ง และความรุนแรงของสามีภรรยาอันเนื่องมาจากนิสัยการดื่มสุรา และความไม่รับผิดชอบของสามี แต่ผู้เขียนได้นําเสนอ ภาพการเล่นล้อเลียนพฤติกรรมพ่อแม่ของลูกๆ ที่ทําได้อย่างแยบยล จนนําไปสู่การคลี่คลายปัญหาในที่สุด
นี่ก็เช่นเดียวกับชายผัวเมียหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่ต้องแยกทางกันจากความหึงหวง และเข้าใจผิดของฝ่ายชาย ในเรื่อง “คุณค่าของการสูญเสีย” โดยพวงเพชร บัวพระจันทร์ เมื่อภรรยาของเขาหนีไป เขาจึงออกติดตาม โดยอาศัยเครือข่ายความสัมพันธ์ของเครือญาติ จนทั้งคู่ก็ได้พบ และคืนดีกันในที่สุด
เรื่องสั้นทั้ง 10 เรื่องของนักเขียนร่วมสมัยของลาว แม้จะเขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระ แต่เมื่อนํามารวมไว้ในหนังสือเล่มนี้ กลับแสดงให้เห็นภาพชีวิต และสังคมลาวร่วมสมัยอย่างค่อนข้างเด่นชัด แม้เราจะไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่า เรื่องสั้นเหล่านี้คือตัวแทนของเรื่องสั้นลาวทั้งหมดก็ตาม แต่มันได้บอกเราอย่างหนึ่งว่า อีกฟากฝั่งของแม่น้ําโขงนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้างกับชีวิตผู้คน และสังคมของพวกเขา
ในอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำ ย้อนกลับมาพิจารณาเรื่องสั้นทั้ง 5 เรื่องของนักเขียนไทย สิ่งที่เห็นได้ชัดในเรื่องสั้นเหล่านี้ก็คือ มันต่างได้เปิดเผยให้ภาพร่างรางๆ ของสังคมไทยใน พ.ศ. นี้ว่ามีความสลับซับซ้อน และยุ่งเหยิงกว่าสังคมลาว สังคมที่พัฒนามาสู่สังคมทุนนิยม และบริโภคนิยมอย่างเต็มตัว มีมิติหลากหลายที่ทับซ้อนกันอยู่ และส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนใน ฐานะปัจเจกอย่างไม่อาจเลี่ยงได้
เรื่องสั้นที่เป็นตัวแทนอย่างชัดเจนในประเด็นที่ว่านี้เห็นได้จากเรื่อง “เรือนตาย” ของสังคม เภสัชมาลา เรื่องสั้น “ไม่มี จดหมายถึงนายฝัน” ของ ฮอยล้อ และเรื่องสั้น “จดหมายถึงคนรักเก่า” ของ เยี่ยม ทองน้อย
ในเรื่องสั้นสามเรื่องนี้ ตัวละครในฐานะปัจเจกบุคคล ดูเหมือนจะมีมิติหลากหลายอยู่ในคนๆ เดียวกัน ต่างตกอยู่ในภาวะทุรนทุราย ไม่มีความสุข ปัญหาของพวกเขาก็เป็นปัญหาปลีกย่อยหยุมหยิม บางเรื่องไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่ก็กลับสร้างความยุ่งยากวุ่นวายให้เกิดขึ้นจนได้
ตัวละครอย่าง “จันทร์จวง” ช่างเสริมสวยสาวโสดในเรื่องสั้น “เรือนตาย” ของสังคม เภสัชมาลา ผู้มีปัญหาในการสร้างบ้านเพื่อให้เป็น “เรือนตาย” ของแม่ ปัญหาของเธอไม่ใช่ไม่มีเงิน แต่เป็นปัญหาของคนที่มีชีวิตแบบฉาบฉวย คิดง่าย เปลี่ยนง่าย แต่ขาดความลึกซึ้งในเรื่องชีวิต การเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ได้ช่วยเธอให้ดีขึ้น
เธอจึงมองปัญหาทุกอย่างแบบตื้นเขิน ให้ค่าของเงินมากกว่าจิตใจ มีแต่ความคิดแต่ไร้แผนการ จึงไม่แปลกที่กว่าเธอจะสร้างเสร็จ ผู้เป็นแม่ก็ตายไปเสียก่อน เรื่องสั้นเรื่องนี้เหมือนจะสะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนในอีกฟากฝั่งของแม่น้ํา เต็มไปด้วยความยุ่งยาก สับสนในชีวิต โดยที่พวกเขาไม่รู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของมันคืออะไร
นี่ก็ไม่ต่างไปจากเรื่องราวของ “นายผัน” ในเรื่องสั้น “ไม่มีจดหมายถึง นายผัน” ของฮอยล้อ ชายหนุ่มที่ล้มเหลวจากชีวิต การทํางานในสังคม เมืองหลวง เพราะได้รับอุบัติเหตุจนขาพิการ แม้จะตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะมาใช้ชีวิตแบบพอเพียงในชนบทอันเป็นบ้านเกิด แต่ “โรคติดเมือง” ก็ทําให้ชีวิตของเขาไม่มีความสุข สุดท้ายเสียงเพรียกจากเมืองก็เรียกร้องให้เขาคืนกลับไป ด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่งจะมีจดหมายสักฉบับมาถึงเขา เพื่อเรียกให้เขาไปสัมภาษณ์เข้าทํางานอีกครั้งหนึ่ง สุดท้ายของการรอคอย เขาได้รับเพียงซองผ้าป่าเท่านั้นเอง
ส่วนในเรื่องสั้น “จดหมายถึงคนรักเก่า” ของ เยี่ยม ทองน้อย นําเสนอ เรื่องราวของชายหนุ่มที่หลงใหลในโลกอินเตอร์เน็ต และผู้จมปลักกับเรื่องรักในอดีต ชีวิตที่ราบเรียบของเขาถูกปลุกขึ้นมา เมื่อบังเอิญค้นพบชื่อของ คนรักเก่าในเว็บไซต์กูเกิล และเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเขียนจดหมายถึงหล่อนทางอินเตอร์เน็ต
จดหมายฉบับนี้ไม่ได้ส่ง เพราะภรรยาของเขามาพบเข้า และลบมันทิ้งไปเสียก่อน เรื่องราวของชายหนุ่มไม่มีอะไรมากไปกว่า คนที่ตกอยู่ในอิทธิพลของโลกไซเบอร์สเปซ มันนําเขาย้อนคืนไปสู่อดีต เป็นช่องทางให้เขาหลบหนีไปจากชีวิตประจําวันที่ซ้ำาซาก ก่อนจะกลับมาพบชีวิตจริงที่ไม่ใช่ “ความจริงเสมือน” อีกต่อไป
จะเห็นได้ว่า เรื่องสั้นไทยได้ถอยห่างออกจากปัญหาการตอบโต้กับ วาทกรรมการพัฒนามานานแล้ว “ตัวละครประเภทถนน และเสาไฟฟ้าอันชั่วร้าย” ที่เคยได้รับการนําเสนอ และผลิตในเรื่องสั้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา หายจากเรื่องสั้นแนวสะท้อนสังคมมานานพอสมควร เรื่องสั้น ของนักเขียนไทยส่วนมากจะเน้นไปที่การนําเสนอปัญหาของมนุษย์ในฐานะ ปัจเจกบุคคล ที่มีชีวิตอยู่ในสังคมอันสลับซับซ้อน พวกเขาเลือกประเด็น ปัญหาเล็กๆ มานําเสนอแทนการทะเลาะกับสังคมระดับโครงสร้าง เหมือนที่เรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตที่เขียนกันในอดีตมักทํากัน เรื่องสั้นในกลุ่มนี้บางทีไม่ ชี้ชัดถึงต้นตอของปัญหา เป็นไปได้ว่าพวกเขาไม่อยากชี้นําผู้อ่าน หรือไม่นัก เขียนเองก็สับสนต่อสิ่งที่เกิดขึ้นพอๆ กับตัวละครที่เขาสร้างมันขึ้นมา
เรื่องสั้น “ป่าเห็ดของแม่” ของ สมชัย คําเพราะ ดูจะเป็นเรื่องเดียวที่ยังมีร่องรอยของการเสนอปัญหาในระดับสังคม แม้ว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้จะมีวิธีการเล่าเรื่องที่ทื่อๆ อัดแน่นไปด้วยข้อมูล แต่ประเด็นปัญหาในเรื่องของการแย่งชิงทรัพยากร และการจัดการทรัพยากรของรัฐ ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีคนในชุมชนท้องถิ่น กลับเป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อย มันเป็นปัญหา ใหม่ที่ค่อนข้างซับซ้อนในสังคมกึ่งอุตสาหกรรมกึ่งเกษตรกรรมแบบประเทศไทย นี่คือตัวอย่างเล็กๆ ของการปะทะกันระหว่างวาทกรรมทุนนิยมสามานย์ กับวาทกรรมเศรษฐกิจพอเพียงที่ดําเนินไปอย่างเข้มข้นใน สังคมไทยปัจจุบัน และเป็นปัญหาที่เรายังไม่ค่อยมองเห็นในเรื่องสั้นของนักเขียนลาว
อย่างไรก็ตาม เรื่องสั้นเพียง 5 เรื่องของนักเขียนไทย ไม่อาจช่วยให้เรามองเห็นอะไรมากมายไปกว่านี้ และไม่อาจเป็นตัวแทนเรื่องสั้นไทยในภาพรวมได้มากนัก แต่อย่างน้อยมันได้บอกเราว่าผู้คน และสังคมในอีกฝั่ง ฟากของแม่น้ํา มีลักษณะเฉพาะไปอีกแบบ
แต่เมื่อพิจารณาเรื่องสั้นทั้งหมด ของนักเขียนไทย-ลาว เราสามารถมองเห็นความจริงประการหนึ่งว่า มนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคล ย่อมได้รับผลกระทบจากสภาพของเศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนไปเสมอ และที่สําคัญ มนุษย์ในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใด ของแผ่นดินโลก ต่างกําลังเผชิญหน้า และตกอยู่ภายใต้การคุกคามของ
สังคมทุนนิยมและบริโภคนิยมโดยถ้วนหน้า
ไม่เว้นแม้คนไทยและลาวบนสองฝั่งของแม่น้ําโขง
รวมเรื่องสั้นร่วมสมัยลาว-ไทย “สองฟากฝั่งของแม่น้ำ
- พิมพ์ครั้งแรก : ต.ค. 2551
- จำนวนพิมพ์ : 1,500 เล่ม
- แบบ และรูปเล่ม : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- บรรณาธิการ : ธัญญา สังขพันธานนท์
- แปลต้นฉบับภาษาลาวเป็นไทย : จินตรัย
- แปลต้นฉบับภาษาไทยเป็นลาว : สมาคมนักประพันธ์ลาว
- จัดพิมพ์ : สโมสรนักเขียนภาคอีสาน
- สนับสนุนการพิมพ์โดย : เทศบาลนครขอนแก่น, สโมสสรนักเขียนภาคอีสาน, สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม, สำนักงานวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น, สมาคมนักประพันธ์ลาว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม